หลังการเสียชีวิต ของ เฮนเรียตตา แล็กส์

การศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์

เซลล์จากเนื้อมะเร็งของเฮนเรียตตาถูกนำส่งให้นักวิจัยชื่อจอร์จ กาย ซึ่งพบว่าเซลล์ดังกล่าวมีคุณสมบัติที่ตัวเขาเองไม่เคยพบมาก่อน นั่นคือสามารถมีชีวิตและโตไปได้เรื่อยๆ[1] ซึ่งแต่เดิมนั้นเซลล์เพาะเลี้ยงจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงไม่กี่วัน จนนักวิทยาศาสตร์หลายคนถึงกับต้องทุ่มเทความพยายามในการรักษาเซลล์ไม่ให้ตายมากกว่าจะได้ศึกษาวิจัยกับเซลล์จริงๆ เสียอีก แต่เซลล์ของเฮนเรียตตาบางเซลล์มีคุณสมบัติที่ไม่เหมือนเซลล์อื่นๆ โดยจอร์จ กายสามารถแยกเซลล์ออกมาได้เซลล์หนึ่ง และได้เพาะพันธุ์เซลล์นี้จนได้เป็นสายพันธุ์เซลล์ขึ้นมา กายตั้งชื่อให้กับตัวอย่างเซลล์นี้ว่าเฮลา (HeLa) ซึ่งย่อมาจากชื่อของเฮนเรียตตา แล็กส์ เพื่อปกปิดตัวตนของเธอเอาไว้ หลังจากที่สามารถเพาะเลี้ยงเซลล์มนุษย์ให้แบ่งตัวได้ไม่จำกัด (หรือเป็น "อมตะ") แล้ว นักวิทยาศาสตร์สามารถนำเซลล์มนุษย์นี้ไปศึกษาวิจัยต่างๆ ได้มากมาย เป็นคุณประโยชน์แก่การศึกษาวิจัยทางการแพทย์และชีววิทยาอย่างมาก[2]